นิเทศการศึกษา

ดร.ธีระพงษ์ ศรีโพธิ์

ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล

ชลอ  เอี่ยมสอาด

หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อนวัตกรรม

………………………………………………………………………

 

 

“…แท็บเล็ตจะเป็นเพียงตัวช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียน เท่านั้น แต่ไม่สามารถมาแทนครูได้ เพียงแต่เป็นอุปกรณ์ที่ให้ครูและนักเรียนเลือกใช้ได้บางเวลา…”

 

 

Tablet  PC 

            Tablet PC คืออะไร

                                “แท็บเล็ต – Tablet” ในความหมายแท้จริงแล้วก็คือแผ่นจารึกที่เอาไว้บันทึกข้อความต่างๆโดยการเขียน (อาจจะเป็นกระดาษ, ดิน, ขี้ผื้ง, ไม้) และมีการใช้กันมานานแล้วในอดีต แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่ใช้แนวคิดนี้ขึ้นมาแทนที่ซึ่งมีหลายบริษัทได้ให้คำนิยามที่แตกต่างกันไป หลักๆแล้วก็มี 2 ความหมายด้วยกันคือ “แท็บเล็ต พีซี – Tablet PC (Tablet Personal Computer)” และ “แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ – Tablet Computer” หรือเรียกสั้นๆว่า “แท็บเล็ต – Tablet”

                                แท็บเล็ต พีซี – Tablet PC (Tablet personal computer)

“แท็บเล็ต พีซี – Tablet PC (Tablet personal computer)” คือ “เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้และใช้หน้าจอสัมผัสในการทำงานเป็นอันดับแรก ออกแบบให้สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง”

                                                 สรุปความหมายของแท็บเล็ตสั้นๆ ก็คือ คอมพิวเตอร์พกพาหรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ขนาดกลางที่มีหน้าจอแบบสัมผัสในการใช้งานเป็นหลัก

ระบบปฏิบัติการใน Tablet  PC

            ระบบปฏิบัติการ มาจากคำว่า Operating System ระบบพื้นฐานที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 4 ชนิด คือ

 ios ระบบปฏิบัติการจากค่าย Apple ซึ่งแท็บเล็ตที่ใช้อยู่ก็คือ iPad นั่นเอง และถ้าให้พูดถึงจุดเด่นของ iOS แล้วละก็คงจะเป็นที่ประสิทธิภาพในการทำงานกับฮาร์ดแวร์ และจัดการหน่วยความจำที่ดีถ้าเทียบกับแท็บเล็ทอื่นที่มีหน่วยความจำและหน่วยประมวลผลกลางเท่ากันแล้ว iOS ยังมีการทำงานที่ดีกว่า ส่วนข้อด้อยเป็นระบบปฏิบัติการตัวเดียวที่ไม่รองรับ Flash (ไม่สามารถแสดงผลได้) และการเชื่อมต่อที่ต้องทำผ่านซอฟท์แวร์ iTune เท่านั้น

Android ระบบปฏิบัติการจากค่าย Google เดิมทีทาง Google ได้พัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับมือถือสมาร์ทโฟนซึ่งก็มีบางค่ายได้นำไปปรับปรุงแล้วใส่ในแท็บเล็ต ตัวอย่างเช่น Samsung Galaxy Tab รุ่นแรกโดยตัวระบบปฏิบัติการที่ใช้นั่นจะเป็น Android Froyo ต่อมาทาง Google ถึงได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่นใหม่ให้รองรับแท็บเล็ตที่มีหน้าจอขนาดใหญ่กว่ามือถือสมาร์ทโฟนโดยตั้งชื่อมันว่า Honeycomb ซึ่งจะมีหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน อาทิ เช่น เวอร์ชั่น 3.0 – เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ออกมาสำหรับแท็บเล็ตโดยเฉพาะ การทำงานโดยรวมทั้งความเร็วและความลื่นเมื่อเทียบกับ iOS แล้วยังสู้ไม่ได้ แต่จะได้เปรียบและดีกว่า iOS ตรงรองรับ Flash และส่วนการเชื่อมต่อที่ทำได้ง่ายเพียงแค่เสียบเข้ากับเครื่องคอมก็จะมองเห็นเป็นอุปกรณ์อีกตัวนึงสามารถทำงาน copy, paste, delete ไฟล์ต่างๆได้สะดวก)

Windows ระบบปฏิบัติการจากค่าย Microsoft หลายคนอาจจะชินและคุ้นเคยกับการใช้งาน Windows เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งหน้าจอเป็นแบบสัมผัสอีกด้วยก็ช่วยให้แท็บเล็ตน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามตัว Windows 7 นั้นยังคงไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้สำหรับแท็บเล็ต บางส่วนจึงอาจจะเล็กเกินไปที่จะใช้นิ้วสัมผัสได้ นอกจากนี้ระยะเวลาการใช้งานก็ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ iOS, Android และ BlackBerry Tablet OS

BlackBerry Tablet OS ระบบปฏิบัติการจากค่าย RIM เจ้าของมือถือสมาร์ทโฟน BB นั่นเอง โดยระบบปฏิบัติการตัวนี้จะพัฒนามาสำหรับ PlayBook โดยเฉพาะ การทำงานโดยรวมก็ถือได้ว่าลื่นไหลไม่แพ้ iOS นอกจากนี้ยังออกแบบการใช้งานโดยวิธีการสัมผัสต่างๆช่วยให้ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น จุดเด่นอีกอย่างก็คือการทำงานของ Multitasking หรือเปิดแอพพลิเคชั่นหลายตัวพร้อมกันสามารถทำได้ดีกว่าระบบปฏิบัติการตัวอื่นๆ หรือเทียบเท่า Windows ได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม PlayBook จำเป็นจะต้องมีมือถือ BB ถึงจะสามารถใช้งานส่วน เช็คอีเมลล์, รายชื่อ, ปฏิทิน, BBM ได้

WebOS ระบบปฏิบัติการแบบออนไลน์ นั่นเอง เราสามารถที่จะทำงานต่างๆ ได้โดยผ่าน Web Browser ดังน้ันมี Web Browser ก็สามารถทำงานได้แล้ว ไม่ต้องลงโปรแกรมอะไรเพิ่มเติม ไม่ต้อง Save file ลงในฮาร์ดแวร์ และเมื่อแก้ไขงานเสร็จแล้วไฟล์ดังกล่าวจะอยู่ใน WebOS ทำให้สามารถทำงานต่อได้ทุกที่ทุกเวลา จุดนี้น่าจะเป็นจุดแข็งของ WebOS แต่ถ้าไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ทก็ไม่สามารถทำงานได้ จุดนี้กลายเป็นจุดอ่อนร้ายแรงของ WebOS ทำให้ไม่เป็นที่นิยม จน HP ประกาศเลิกพัฒนาไปในที่สุด

สำหรับระบบปฏิบัติการที่ใช้ใน Tablet ที่แจกให้นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 คือ Andriod Operating System Version 4.0

 

การใช้ Tablet  PC  เพื่อการเรียนรู้

            แท็บเล็ต เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและเร็วกว่าที่จะจดจำเอง รูปแบบการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนจากการสอนเป็นการเรียนรู้และแสวงหาด้วยตนเอง เปลี่ยนจากเน้นเนื้อหาในกรอบหลักสูตรมาเป็นเน้นทักษะ ความคิดและกระบวนการ แม้ว่าหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ แต่สถานศึกษาปรับตัวช้ามาก

            “การศึกษาในยุคใหม่ กระบวนการเรียนรู้มีความสำคัญมาก ครูมิใช่ผู้มอบความรู้ แต่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน คนรุ่นใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้เรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต มีทักษะและกระบวนการอ่าน เขียนเป็นในยุคดิจิติล การใช้แท็บเล็ตต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ และใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ไม่ใช่ใช้แท็บเล็ตแทนหนังสือหรือสื่อ”

            คุณลักษณะของแท็บเล็ตที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้น สามารถสนองต่อความต้องการทางการเรียนรู้รายบุคคล สามารถติดตามช่วยเหลือให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ได้ เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมาย ซึ่งการเรียนรู้บางครั้งต้องอาศัย “การจำลองสถานการณ์” หรือ “การทดลองเสมือนจริง” ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ผ่านช่องทางสื่อสารหรือเครือข่ายสังคมต่างๆ

               “การใช้แท็บเล็ตให้ได้ผลจึงขึ้นอยู่กับครู ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเด็กผสมผสานกับกระบวนการต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งยากกว่าการบรรจุสื่อลงในแท็บเล็ต เด็กๆ ที่ใช้แท็บเล็ตตั้งแต่เล็กจะรับรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสร้างโลกส่วนตัว เริ่มรู้สึกว่ามีอิสรภาพทางความคิด สังคมและความรู้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นวัตถุมีความสำคัญมากล้น แต่จิตวิญญาณอาจจางลง โลกจะกลับมาทำให้ผู้คนไม่สนใจคนข้างเคียง ไม่อยากพูดคุยกับคนที่อยู่ใกล้”

               เหนืออื่นใด การศึกษาต้องเน้นสร้างจิตวิญญาณของการเรียนรู้ การคิดเป็น ต่อยอดความรู้ เน้นกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการสอนหรือป้อนความรู้ให้เด็ก เรายังมีความท้าทายรอในอนาคตอีกมาก เพราะอายุของเทคโนโลยีสมัยใหม่สั้นมาก ดังนั้นการนำมาใช้ต้องคิดให้รอบคอบ ที่สำคัญครูและผู้เรียนจะต้องสร้างสมรรถนะทางคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ให้เหมาะสม เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับผู้เรียนควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยในชั้นเรียนต่อไป

การเตรียมการของสถานศึกษาเพื่อรองรับการใช้ Tablet PC เพื่อการเรียนการสอน

            1.เตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานได้แก่การเชื่อมโยงเครือข่ายไร้สาย  การบำรุงรักษา

                2.พัฒนาครูผู้สอนชั้น ป.1 ให้ลดความกังวลเรื่องการใช้ Tablet โดยสนับสนุนให้ครูมีทักษะและเข้าใจ software ที่เกี่ยวข้อง สร้างแรงกระตุ้นให้เกิด Computer  Literacy  ในตัวครูผู้สอนชั้น ป.1 คือในฐานะครูควรต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในระดับที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีสมรรถนะพื้นฐาน ดังนี้

                                1.เข้าใจการทำงานของ Tablet PC

                        2.สามารถใช้ Tablet PC  ได้

                                3.นำความรู้และทักษะมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้

                                4.ใช้ Application Software เพื่อการศึกษาได้

                                5.แก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับ Software และ Hardware ของ Tablet PC ได้

                                6.มีความรู้ด้าน  CMI  และ CAI ในรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน

                                7.รู้แหล่งที่จะค้นคว้าหาความรู้ทาง internet เพื่อการศึกษาได้

การสนับสนุนช่วยเหลือครูของสำนักงานเขตพื้นที่

                กลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ได้จัดทำ Blog  เพื่อให้ครูได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆในการใช้ Tablet เพื่อการเรียนการสอนร่วมกันที่  https://chalor.wordpress.com

 

 

ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์

ความหมาย : ความสามารถที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นที่ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ คือ การแก้ปัญหา การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น การแสดงเหตุผล การนำเสนอและการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์

1. ทักษะและกระบวนการแก้ปัญหา  เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนควรจะรู้ ฝึกฝน และการพัฒนาให้เกิดทักษะขึ้นในตัวนักเรียนปัญหาทางคณิตศาสตร์ หมายถึง สถานการณ์ที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ซึ่งเผชิญอยู่และต้องการค้นหาคำตอบโดยที่ยังไม่รู้วิธีการหรือขั้นตอนที่จะได้คำตอบของสถานการณ์นั้นในทันที

การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ หมายถึง กระบวนการในการประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ขั้นตอน/กระบวนการแก้ปัญหา ยุทธวิธีแก้ปัญหาและประสบการณ์ที่มีอยู่ไปใช้ในการหาคำตอบของปัญหาทางคณิตศาสตร์

รูปแบบกระบวนการแก้ปัญหาตามแนวคิดของโพลยา (Polya)

ขั้นที่ 1  ขั้นทำความเข้าใจปัญหาเป็นการคิดเกี่ยวกับปัญหาและตัดสินว่าอะไรที่ต้องการค้นหา โดยผู้เรียนต้องทำความเข้าใจปัญหาและระบุส่วนที่สำคัญของปัญหา

ขั้นที่ 2  ขั้นวางแผนแก้ปัญหา  เป็นการค้นหาความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและตัวไม่รู้ค่า นำความสัมพันธ์ที่ได้มาผสมผสานกับประสบการณ์ กำหนดแนวทางหรือแผนในการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 3  ขั้นดำเนินการตามแผน  เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนหรือแนวทางที่วางไว้ อาจตรวจสอบความเป็นไปได้ของแผน เพิ่มเติมรายละเอียด แล้วลงมือปฏิบัติจนได้ความสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จต้องค้นหาและทำการแก้ปัญหาจนสามารถแก้ปัญหาได้

ขั้นที่ 4  ขั้นตรวจสอบผล เป็นการมองย้อนกลับไปยังคำตอบที่ได้มา เริ่มจากการตรวจสอบความถูกต้อง ความสมเหตุสมผลของคำตอบและยุทธวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ มีคำตอบหรือยุทธวิธีอื่นในการแก้ปัญหานี้อีกหรือไม่

การพัฒนาทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ :ทักษะ/กระบวนการแก้ปัญหา

Polya(1957)ได้ให้นิยามของการแก้ปัญหาว่า  การแก้ปัญหาเป็นความสามารถพิเศษทางสมอง  ซึ่งเป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล  ทำให้บุคคลนั้นมีความพิเศษเหนือผู้อื่น  โพลยาแบ่งปัญหาออกเป็น 2 ประเภท  ดังนี้(Polya,1985)

1.ปัญหาให้ค้นหา(Problem to Find)  เป็นปัญหาให้ค้นสิ่งที่ต้องการ  ซึ่งอาจเป็นปัญหาในเชิงทฤษฏี  หรือปัญหาในเชิงปฏิบัติ  อาจเป็นรูปธรรม  หรือนามธรรม  ส่วนสำคัญของปัญหานี้แบ่งเป็น 3 ส่วน  ได้แก่  สิ่งที่ต้องการหา  ข้อมูลที่กำหนดให้  และเงื่อนไข

2.ปัญหาให้พิสูจน์ (Problem to Prove)  เป็นปัญหาที่ให้แสดงอย่างสมเหตุสมผลว่าข้อความที่กำหนดเป็นจริง  หรือเป็นเท็จ  ส่วนสำคัญของปัญหานี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  ได้แก่  สมมติฐาน  หรือสิ่งที่กำหนดให้  และผลสรุป  หรือสิ่งที่ต้องการพิสูจน์

สรุปแล้วได้ดังนี้ การแก้ปัญหาหมายถึง วิธีการหาผลลัพธ์ที่ไม่รู้ ซึ่งในการหาผลลัพธ์นักเรียนต้องเขียนสิ่งที่เขารู้ และใช้กระบวนการแก้ปัญหา นักเรียนจะได้พัฒนาความเข้าใจใหม่ๆทางคณิตศาสตร์อยู่เสมอการแก้ปัญหาไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายของการเรียนคณิตศาสตร์  แต่หลักที่สำคัญคือ  การได้ลงมือปฏิบัติ  นักเรียนควรจะมีโอกาสที่จะได้คิดหาวิธีได้จับต้องสื่อ   แก้ปัญหาที่ซับซ้อน  และครูควรจะให้กำลังใจเพื่อสะท้อนต่อการคิดของนักเรียน    และในการจัดการเรียนการสอนการแก้ปัญหาดังที่ได้ระบุความสามารถที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวของนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖  คือ

1. สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการแก้ปัญหา

2. สามารถแก้ปัญหาด้านคณิตศาสตร์และเนื้อหาอื่นๆ

3. สามารถนำ  และประยุกต์ใช้ยุทธวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

4. สามารถสะท้อนให้เห็นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์

ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาที่ได้มาของคำตอบที่ถูกต้อง  นักเรียนต้องใช้สาระความรู้  และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์มากำหนดแนวทาง  หรือวิธีการในการหาคำตอบ  การแก้ปัญหาเป็นกระบวนการที่มีความเชื่อมโยงจากการนำประสบการณ์ความรู้  ความเข้าใจ  และความคิดมาประยุกต์ใช้หาคำตอบ  และใช้ยุทธวิธีแก้ปัญหาหรือเครื่องมือช่วยนักเรียนในการแก้ปัญหา  ปัญหาทางคณิตศาสตร์ปัญหาหนึ่งๆสามารถแก้ได้โดยใช้ยุทธวิธีที่หลากหลาย  นักแก้ปัญหาที่ดีจะต้องเรียนรู้ยุทธวิธีต่างๆ  และสะสมยุทธวิธีไว้มากๆเพื่อนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม  และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้…

ยุทธวิธีแก้ปัญหา

1. การค้นหาแบบรูป

2. การสร้างตาราง

3. การเขียนภาพหรือแผนภาพ

4. การแจกแจงกรณีที่เป็นไปได้ทั้งหมด

5. การคาดเดาและตรวจสอบ

6. การทำงานแบบย้อนกลับ

7. การเขียนสมการ

8. การเปลี่ยนมุมมอง

9. การแบ่งเป็นปัญหาย่อย

10. การให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์

11. การให้เหตุผลทางอ้อม

2. ทักษะและกระบวนการ การให้เหตุผล หมายถึง กระบวนการการคิดทางคณิตศาสตร์ที่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์และ/หรือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการรวบรวมข้อเท็จจริง/ข้อความ/แนวคิด/สถานการณ์ทางคณิตศาสตร์ต่างๆ แจกแจงความสัมพันธ์หรือการเชื่อมโยงเพื่อทำให้เกิดข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ใหม่

รูปแบบการให้เหตุผล

1. การให้เหตุผลแบบสหัชญาณ เป็นการให้เหตุผลที่มาจากการใช้ความรู้ที่มีมาแต่กำเนิดหรือสามัญสำนึก

2. การให้เหตุผลแบบอุปนัย เป็นการให้เหตุผลที่มาจากกระบวนการที่ใช้การสังเกตหรือการทดลองหลายๆ ครั้ง แล้วรวบรวมข้อมูลเพื่อหาแบบรูปที่จะนำไปสู่ข้อสรุปซึ่งเชื่อว่า น่าจะถูกต้อง น่าจะเป็นจริง เรียกข้อสรุปที่ได้ว่า ข้อความคาดการณ์

3. การให้เหตุผลแบบนิรนัย เป็นการให้เหตุผลที่มาจากกระบวนการที่ยกเอาสิ่งที่รู้ว่าเป็นจริงหรือยอมรับว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์แล้วใช้เหตุผลทางตรรกศาสตร์ อ้างจากสิ่งที่รู้ว่าเป็นจริงนั้นไปสู่ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่

3.ทักษะการสื่อสาร และการนำเสนอ เป็น กระบวนการถ่ายทอดข่าวสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารโดยนำเสนอ

ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การดู การแสดงท่าทาง โดยมีการใช้สัญลักษณ์ ตัวแปร ตาราง กราฟ สมการ อสมการ ฟังก์ชันและแบบจำลอง ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์มาช่วยในการสื่อความหมาย

4.ทักษะและกระบวนการ การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ เป็น กระบวนการที่ต้องอาศัยการคิด วิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ ในการนำความรู้ เนื้อหาสาระและหลักการทางคณิตศาสตร์มาสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างความรู้และทักษะ/กระบวนการที่มีเนื้อหาคณิตศาสตร์กับงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่ซับซ้อนหรือสมบูรณ์ขึ้น

รูปแบบการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์

1.การเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เป็น การนำความรู้และทักษะกระบวนการต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ไปสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลทำให้สามารถแก้ปัญหาได้หลากหลายวิธีหรือกะทัดรัดขึ้นและทำให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีความหมายขึ้น

2. การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น เป็น การนำความรู้และทักษะกระบวนการต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ไปสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับเนื้อหาและความรู้ของศาสตร์อื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ทำให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์น่าสนใจ มีความหมายและนักเรียนเห็นความสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์

3.  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  เป็น กระบวนการคิดที่อาศัยความรู้พื้นฐาน  จินตนาการและวิจารณญาณ ในการพัฒนาหรือคิดค้นองค์ความรู้หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สูงกว่าความคิดพื้นๆ เพียงเล็กน้อย ไปจนกระทั่งเป็นความคิดที่อยู่ในระดับสูงมาก

องค์ประกอบของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประกอบด้วย ความคิดคล่อง   ความคิดยืดหยุ่น  ความคิดริเริ่ม    ความคิดละเอียดลออ

ทักษะการคิดหลากหลายสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

การใช้ทักกษะการคิดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน ให้สอดคล้องตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑  ซึ่งได้แก่ ความสามารถในทักษะการคิด  ขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสาร และทักษะการคิดที่เป็นแกน และความสามารถในทักษะการคิดขั้นสูง ประกอบด้วย ทักษะการคิดซับซ้อน ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด ทักษะกระบวนการคิด โดยมีทักษะการคิดเพื่อการพัฒนาโดยสังเขป ดังนี้

๑. ทักษะการคิดขั้นพื้นฐานประกอบด้วย

๑.๑ ทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสาร

ทักษะการฟัง     ทักษะการพูด    ทักษะการอ่าน   ทักษะการเขียน

๑.๒ ทักษะการคิดที่เป็นแกน

ทักษะการสังเกต                     ทักษะการสำรวจ            

ทักษะการสำรวจค้นหา                     ทักษะการตั้งคำถาม       

ทักษะการระบุ                               ทักษะการรวบรวมข้อมูล    

ทักษะการเปรียบเทียบ                      ทักษะการคัดแยก         

ทักษะการจัดกลุ่ม                    ทักษะการจำแนกประเภท 

ทักษะการเรียงลำดับ                       ทักษะการแปลความ  

ทักษะการตีความ                     ทักษะการเชื่อมโยง        

ทักษะการสรุปย่อ                    ทักษะการสรุปอ้างอิง     

ทักษะการให้เหตุผล                        ทักษะการนำความรู้ไปใช้

๒.ทักษะการคิดขั้นสูง

       ๒.๑ ทักษะการคิดซับซ้อน

ทักษะการให้ความกระจ่าง          ทักษะการสรุปลงความเห็น

ทักษะการให้คำจำกัดความ                ทักษะการวิเคราะห์                

ทักษะการสังเคราะห์                        ทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้     

ทักษะการจัดระเบียบ                ทักษะการสร้างความรู้       

ทักษะการจัดโครงสร้าง                    ทักษะการปรับโครงสร้าง         

ทักษะการหาแบบแผน                      ทักษะการพยากรณ์

ทักษะการหาความเชื่อพื้นฐาน            ทักษะการตั้งสมมติฐาน

ทักษะการพิสูจน์ความจริง                 ทักษะการทดสอบสมมติฐาน    

ทักษะการตั้งเกณฑ์                  ทักษะการประเมิน

๒.๒ ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด

ทักษะการคิดคล่อง                         ทักษะการคิดหลากหลาย     ทักษะการคิดละเอียด                  ทักษะการคิดชัดเจน     

ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล               ทักษะการคิดถูกทาง         

ทักษะการคิดกว้าง                          ทักษะการคิดไกล                   

ทักษะการคิดลึกซึ้ง

๒.๓ ทักษะกระบวนการคิด

ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ             ทักษะกระบวนการคิดตัดสินใจ      ทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา    ทักษะกระบวนการวิจัย ทักษะกระบวนการคิดสร้างสรรค์     ทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสาร

ตัวอย่างความหมายของทักษะการคิดและแนวทางการนำไปพัฒนาผู้เรียน

๑. การฟังหมายถึง       การรับรู้ความหมายจากเสียงที่ได้ยิน การได้ยินเป็นความสามารถ   ที่จะได้รับรู้สิ่งที่ได้ยิน ตีความและ จับความสิ่งที่รับรู้นั้นเข้าใจและ จดจำไว้ ประเภท/วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

๑. ฟังเพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน

๒. ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน

๓. ฟังเพื่อการเรียนรู้

๔. ฟังเพื่อได้คติชีวิตและความจรรโลงใจ

กระบวนการพัฒนา

๑.สนใจเรื่องที่ฟัง

๒.ทำความเข้าใจในเรื่องที่รับฟัง

๓.จับประเด็นสำคัญ และคิดวิเคราะห์

   วิจารณ์เรื่องราว

๔.แยกแยะข้อความใดเป็นข้อเท็จจริง

   ข้อความใดเป็นข้อคิดเห็น

๕. พิจารณาจุดมุ่งหมายของผู้พูด รวมทั้ง    เหตุผล มีความเป็นไปได้น่าเชื่อถือ

๒.การพูดหมายถึง        การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง รวมทั้งกิริยาอาการถ่ายทอดความรู้ ความคิดและความรู้สึกของผู้พูดให้ผู้ฟังได้รับรู้และเกิดการตอบสนอง ประเภท/วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

๑.การพูดให้ความรู้

          – การพูดบรรยาย

          – การพูดรายงาน

          – การพูดแนะนำ

๒. การพูดแสดงความคิดเห็น

๓. การพูดจูงใจ

๔. การพูดจรรโลงใจ เพื่อความเพลิดเพลิน

๕. การพูดระหว่างบุคคล

๖. การพูดในกลุ่ม

๗. การพูดในที่ชุมชน

กระบวนการพัฒนา

๑. ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาที่พูดได้ง่าย ชัดเจน และรวดเร็ว

๒. ผู้ฟังสามารถแสดงพฤติกรรมตอบสนองได้ตรงตามจุดมุ่งหมาย

๓. สิ่งที่พูดเหมาะสมกับผู้ฟังและสถานการณ์

๓.การอ่านหมายถึง  การรับรู้ข้อความในการเขียนของตนเองหรือของผู้อื่น รวมถึงการรับรู้ความหมายจากเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ เช่นสัญลักษณ์จราจร      ประเภท/วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

๑. การอ่านทบทวน

๒. การอ่านเพื่อจดจำ

๓. การอ่านเพื่อความเข้าใจ

    – การอ่านจับใจความ

    – การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

๔. การอ่านหาข้อมูลเฉพาะ (scan)

๕. การอ่านอย่างจดจ่อ (intensive reading)

๖. การอ่านสะท้อนความคิด

กระบวนการพัฒนา

๑. อ่านแล้วจับใจความได้

๒. สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน

๓. แยกแยะความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น

๔. ตีความ แปลความ วิเคราะห์ วิจารณ์

    ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผล

๔. การเขียนหมายถึง     การถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของบุคคลออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจ ประเภท/วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

๑. การเขียนบรรยาย

๒. การเขียนอธิบาย

๓. การเขียนแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก

๔. การเขียนรายงาน

๕. การเขียนจูงใจ

กระบวนการพัฒนา

๑. ใช้ถ้อยคำสำนวนให้เหมาะสมกับผู้รับสาร

๒. ถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก

    ความต้องการได้อย่างชัดเจนตรงตาม

    ความต้องการ

๓. ใช้ภาษาได้ถูกต้องและเหมาะสมตาม

    หลักการใช้ภาษา ตรงตามความหมาย

   เป็นระเบียบ และชัดเจน

ทักษะการคิดที่เป็นแกน

๑. การสังเกตคือ   การรับรู้และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์     ที่ไม่มีการใช้ประสบการณ์และความคิดเห็นของผู้สังเกตในการเสนอข้อมูล ข้อมูลจากการสังเกตมีทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ

การพัฒนา

๑. ใช้ประสาทสัมผัสหลายด้าน (หู ตา จมูก ลิ้น กาย) ในการสำรวจสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือ ปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง  เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและ เชิงปริมาณ

๒.ให้ข้อมูลการสังเกตที่เป็นข้อมูล เชิงประจักษ์โดยไม่ใช้ความคิดเห็นหรือ ตีความข้อมูล

๒. การสำรวจคือการพิจารณาตรวจสอบสิ่งที่สังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้น

การพัฒนา

๑. กำหนดสิ่งหรือเรื่องที่จะสำรวจ

๒. แสวงหาวิธีการในการรวบรวมข้อมูล

    เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและความคิดเห็น 

    เกี่ยวกับสิ่งนั้น

๓. รวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็น

    เกี่ยวกับสิ่งที่สำรวจ

๔. นำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่ได้

    จากการสำรวจ

๓. การสำรวจค้นหาคือ การค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยังไม่รู้หรือรู้น้อยมากอย่างมีจุดหมายด้วยวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

การพัฒนา

๑. กำหนดสิ่งหรือเรื่องที่จะไปสำรวจค้นหา

๒. กำหนดวิธีการที่จะสำรวจค้นหาสิ่ง/เรื่องที่

    กำหนด

๓. ใช้วิธีการที่กำหนดในการค้นหาสิ่ง/เรื่องที่

    ต้องการ

๔. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจค้นหา

๕. นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสำรวจค้นหา

๔. การตั้งคำถาม คือ  การพูดหรือการเขียนสิ่งที่สงสัย หรือสิ่งที่ต้องการรู้การพัฒนา

๑. อ่านหรือฟังอย่างตั้งใจ

๒. ขีดเส้นใต้คำหรือข้อความหรือจดประเด็น

    ที่สงสัยต้องการทราบคำตอบ

๓. เลือกคำที่ใช้แทนสิ่งที่สงสัย เช่น ใคร   อะไร   ที่ไหน อย่างไร ทำไม

๔. พูดหรือเขียนเป็นประโยคคำถาม

 ๕. การระบุคือ   การบ่งชี้สิ่งต่างๆหรือบอกส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบหรือลักษณะของสิ่งที่ศึกษา

การพัฒนา

๑. สังเกตสิ่งที่ศึกษา

๒. บอกข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของสิ่งที่

    ศึกษาตามที่สังเกตให้ได้มากที่สุด

๓. เชื่อมโยงลักษณะจากการสังเกตกับ

    ลักษณะที่เคยรู้มาก่อนหรือจาก

    ประสบการณ์เดิม

๖.การรวบรวมข้อมูลคือ         การใช้วิธีการต่างๆเก็บข้อมูลที่ต้องการรู้การพัฒนา

๑. กำหนดจุดประสงค์ของการเก็บข้อมูล

๒. หาวิธีการในการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม

    กับจุดประสงค์

๓. ใช้วิธีการที่กำหนดในการรวบรวมข้อมูล

๔. นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมได้

๗. การเปรียบเทียบคือการจำแนกระบุสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในสิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่ต่างกัน

การพัฒนา

๑. กำหนดมิติที่จะเปรียบเทียบ ๒ สิ่ง คือ

   ความเหมือนและความต่าง

๒. นำของอย่างน้อย ๒ สิ่งที่จะเปรียบเทียบ

    มาจัดให้อยู่บนฐานเดียวกันตามเกณฑ์

    ที่กำหนด

๓. บอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่งที่

    ต้องการเปรียบเทียบกัน

๘. การคัดแยก คือการแยกสิ่งที่มีลักษณะต่างกันตั้งแต่ ๑ อย่างขึ้นไปออกจากกัน

การพัฒนา

๑. สังเกตสิ่งที่ต้องการคัดแยก (อย่างน้อย ๒ อย่าง)

๒. บอกข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการคัดแยก

    จากการสังเกต

๓. เปรียบเทียบสิ่งที่ต้องการคัดแยกเพื่อระบุ

    ความแตกต่าง

๔. แยกสิ่งที่มีลักษณะต่างกันออกจากกัน

๕. อธิบายความแตกต่างของสิ่งที่คัดแยก

    ออกจากกัน

๙. การจัดกลุ่ม คือ       การนำสิ่งต่างๆที่มีสมบัติเหมือนกันตามเกณฑ์มาจัดเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีเกณฑ์ต่างกัน

การพัฒนา

๑. สังเกตความเหมือน ความต่าง และ

   ภาพรวมของสิ่งต่างๆ ที่จะจัดกลุ่ม

๒. กำหนดเกณฑ์ของสิ่งที่จะมารวมกลุ่ม

    เดียวกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเกณฑ์ต่างกันไป

๓. จำแนกหรือแยกสิ่งต่างๆ เข้ากลุ่มตาม

    เกณฑ์ที่กำหนด

๔. อธิบายผลการจัดกลุ่มพร้อมทั้งเกณฑ์ที่ใช้

๑๐. การจำแนกประเภทคือ    การนำสิ่งต่างๆมาแยกเป็นกลุ่มตามเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการหรือยอมรับโดยทั่วไป

การพัฒนา

๑. สังเกตสิ่งที่สนใจจะจำแนกประเภท

๒. สังเกตภาพรวม สังเกตสิ่งที่เหมือนกัน

    สิ่งที่ต่างกัน

๓. กำหนดเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับทาง

    วิชาการหรือยอมรับโดยทั่วไปในการแยก

    สิ่งต่างๆ ออกจากกัน

๔. แยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันตามเกณฑ์

๕. จัดกลุ่มสิ่งที่มีลักษณะเหมือนกันไว้ ด้วยกัน

๖. อธิบายผลการจำแนกประเภทอย่างมีหลักเกณฑ์

๑๑.  การเรียงลำดับคือ การนำสิ่งต่างๆมาจัดเรียงไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้เกณฑ์การจัดเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง

การพัฒนา

๑. กำหนดเกณฑ์การจัดเรียงลำดับ

๒. นำสิ่งที่ต้องการจัดเรียงลำดับมาจัดเรียง

    ไปในทิศทางเดียวกัน จากปริมาณมาก  

    ไปยังปริมาณน้อย หรือจากปริมาณน้อย

    ไปยังปริมาณมาก

๑๒.  การแปลความคือ   การเรียบเรียงและถ่ายทอดข้อมูลในรูปแบบ/วิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมแต่ยังคงสาระเดิม

การจัดกิจกรรม  

๑. ทำความเข้าใจในสาระและความหมายของ

   สิ่งที่จะแปลความ

๒. หากลวิธีนำเสนอสาระและความหมายนั้น 

    ในรูปแบบ/วิธีการใหม่แต่ยังให้คงสาระ

    และความหมายเดิม

๓. เรียบเรียงและถ่ายทอดสาระและ ความหมายนั้นตามกลวิธีที่กำหนด

๑๓.  การตีความ คือ  การบอกความหมายหรือความสัมพันธ์ของข้อมูลหรือสาระที่แฝงอยู่ไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยการเชื่อมโยงกับบริบทความรู้/ประสบการณ์เดิมหรือข้อมูลอื่นๆ

การจัดกิจกรรม  

๑. ศึกษาข้อมูล/ข้อความ/เรื่องที่ต้องการตีความให้เข้าใจ

๒. หาความหมายของข้อความที่ไม่ได้บอกไว้  โดย

         ๒.๑ เชื่อมโยงข้อมูล/ข้อความที่มีกับ

               ข้อมูลอื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และที่เป็น

               ความรู้หรือประสบการณ์เดิม

         ๒.๒ เชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีเหตุผล

๓. ระบุความหมายที่แฝงอยู่โดยอธิบาย เหตุผลประกอบ

๑๔. การเชื่อมโยงคือการบอกความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลอย่างมีความหมาย

การจัดกิจกรรม  

๑. พิจารณาข้อมูลต่างๆ

๒. เลือกข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกันมาสัมพันธ์กันให้มีความหมาย โดยอาศัยความรู้ประสบการณ์เดิมและแสวงหาความรู้และข้อมูลใหม่

๓. อธิบายความสัมพันธ์และความหมายของข้อมูลที่นำมาเชื่อมโยงกัน

๑๕. การสรุปย่อคือ การจับเฉพาะใจความสำคัญของเรื่องที่ต้องการสรุปและนำมาเรียบเรียงให้กระชับ

การจัดกิจกรรม

๑. ศึกษาเรื่องที่ต้องการสรุปย่อให้เข้าใจ

๒. จับเฉพาะใจความสำคัญของเรื่อง โดย

     ๒.๑. จับจุดมุ่งหมายของเรื่อง

     ๒.๒  ลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง

     ๒.๓  ระบุเหตุการณ์หรือความหมาย

            ของเรื่องที่จำเป็นต่อการเข้าใจเรื่อง

            ให้ครบถ้วน

      ๒.๔ ตัดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ

           ที่ไม่จำเป็นต่อการเข้าใจเหตุการณ์

           หรือความหมายสำคัญของเรื่อง

           ออกไป

     ๒.๕ นำเหตุการณ์หรือความหมายของ

           เรื่องที่สำคัญจำเป็นขาดไม่ได้ต่อ

           การเข้าใจเรื่องมาเรียบเรียงให้

           กระชับ

๑๖. การสรุปอ้างอิง คือการนำความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาใช้ในการสรุปลงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูล

การจัดกดิจกรรม

๑. สังเกตสิ่งต่างๆ / ปรากฏการณ์ต่างๆ

๒. อธิบาย / สรุปสิ่งที่สังเกตตามข้อมูลเชิง

    ประจักษ์

๓. ขยายข้อมูลจากสิ่งที่สังเกตได้ออกไป

    โดยการอ้างอิงจากความรู้หรือ

    ประสบการณ์เดิม

๔. สรุปความคิดเห็นจากการอ้างอิง

๑๗. การให้เหตุผลคือ   การอธิบายเหตุการณ์หรือการกระทำต่างๆโดยเชื่อมโยงให้เห็นถึงสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์หรือการกระทำนั้นๆ

การจัดกิจกรรม

๑. รับรู้และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์  

    หรือ การกระทำต่างๆ ที่ต้องการอธิบาย

    ให้เหตุผล

๒. ค้นหาสาเหตุของเหตุการณ์หรือการกระทำ 

    ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยหลักตรรกะ/การยอมรับ  

    ของสังคม / ข้อมูลหลักฐานสนับสนุน /

    การทดสอบตรวจสอบ/เหตุผลเชิงประจักษ์

๓. อธิบายให้เห็นความสอดคล้องของเหตุ

    และผลในเหตุการณ์หรือการกระทำนั้นๆ

๑๘.การนำความรู้ไปใช้คือ     การนำความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจไปใช้เพื่อให้เกิดความชำนาญ

การจัดกิจกรรม  

๑. ทบทวนความรู้ที่มี

๒. มองเห็นความเหมือนกันของสถานการณ์

    ใหม่กับสถานการณ์เดิมที่เคยเรียนรู้มา

๓. นำความรู้ที่มีไปใช้ในสถานการณ์ใหม่

    ที่ใกล้เคียงกับที่ได้เคยเรียนรู้แล้ว

ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด

๑.ทักษะ การคิดคล่องคือ การให้ได้ข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

การจัดกิจกรรม

๑. กำหนดประเด็นที่ต้องการคิด

๒. คิดเชื่อมโยงเรื่องที่คิดกับความรู้/

    ประสบการณ์/ความรู้สึก/

    ความคิดเห็นของตนอย่างรวดเร็ว

    ให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก

๒. การคิดหลากหลายคือการให้ได้ข้อมูลหลายประเภท

การจัดกิจกรรม

๑. กำหนดประเด็นที่ต้องการคิด

๒. คิดถึงประเภท / ชนิด/แบบ /

    ลักษณะที่แตกต่างกันของสิ่งที่คิด

    ให้ได้จำนวนมาก

๓. หาตัวอย่างของประเภท /ชนิด /

    แบบ / ลักษณะของสิ่งที่คิด

๓.  การคิดละเอียดคือ   การให้ได้ข้อมูลที่เป็นราย ละเอียดของสิ่งที่ต้องการคิด

การจัดกิจกรรม

๑. พิจารณาเรื่องที่คิดว่ามีประเด็นใด

    ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มขึ้น

    และเพิ่มจุดประสงค์ใด

๒. ขยายข้อมูลของประเด็นที่คิดให้ได้  

    รายละเอียด เพิ่มมากขึ้น

๔.  การคิดชัดเจนคือ    การคิดที่ผู้คิดรู้ว่าตนรู้และ

ไม่รู้อะไร เข้าใจและไม่เข้าใจอะไร และสงสัยอะไรในเรื่อง 

ที่คิด

การจัดกิจกรรม

๑. พิจารณาข้อมูล/เรื่องที่นำมาคิด

๒. ระบุได้ว่าตนเองรู้/ไม่รู้ เข้าใจ/ไม่

    เข้าใจอะไรหรือสงสัยอะไร

๓. อธิบายความเข้าใจของตนในเรื่องที่รู้ ยกตัวอย่างและตอบคำถามในเรื่องนั้น

๕.  คิดอย่างมีเหตุผลคือ การใช้หลักเหตุผลในการคิดพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

การจัดกิจกรรม  

๑. รวบรวมข้อมูลในเรื่องที่คิด

๒. จำแนกข้อมูลในเรื่องที่คิดที่เป็น

    ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออก

    จากกัน

๓. พิจารณาความน่าเชื่อถือของ

    ข้อเท็จจริงและความคิดเห็น

๔. พิจารณาเรื่องที่คิดโดยใช้เหตุผล

    แบบนิรนัย และ/หรืออุปนัยบนฐาน

    ของข้อมูลที่เชื่อถือได้

๕. อธิบายเรื่องที่คิดอย่างมีเหตุผล

๖.การคิดถูกทางคือการคิดที่ทำให้ได้ความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นประโยชน์ระยะยาว

การจัดกิจกรรม  

๑. แสวงหาข้อมูลในเรื่องที่คิด

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่

    เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ

    ส่วนรวมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

๒. คิดพิจารณาข้อมูลและตัดสินใจ

    โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม  มากกว่าส่วนตน

๓. คิดพิจารณาข้อมูลและตัดสินใจ

    โดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว

    มากกว่าระยะสั้น

๗. การคิดกว้างคือการคิดโดยพิจารณาถึงองค์ประกอบ/แง่มุมต่างๆของเรื่องที่คิดอย่างครอบคลุม

การจัดกิจกรรม  

๑. คิดถึงองค์ประกอบ/แง่มุมต่างๆ

    ที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องที่คิดให้ได้

    มากที่สุด

๒. หาข้อมูลรายละเอียดของ

    องค์ประกอบ/แง่มุมของเรื่องที่คิด

    ให้ได้มากที่สุด

๓. พิจารณาเรื่องที่คิดโดยใช้ข้อมูล

    หลายแง่มุม

๔. สรุปผลการพิจารณาเรื่องที่คิด

๘. การคิดไกลคือ        การคิดที่ทำให้สามารถอธิบายเหตุการณ์ในอนาคตได้

การจัดกิจกรรม  

๑. นำข้อมูล/ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง

    ที่คิดมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์

    เชิงสาเหตุ

๒. ทำนายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ

    ของปัจจัยต่างๆอย่างต่อเนื่อง

    เป็นขั้นๆไป โดยอาศัยข้อมูลและ

    ข้อเท็จจริงต่างๆเป็นฐานใน

    การทำนาย

๓. ประเมินความเหมาะสมและความ

    เป็นไปได้ของความสัมพันธ์

    เชิงสาเหตุของแต่ละขั้นตอน

๔. ลงความเห็นการทำนายเหตุการณ์

   ในอนาคต

๙. การคิดลึกซึ้งคือการคิดที่ทำให้เข้าใจความซับซ้อนของโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุในโครงสร้างของเรื่องที่คิด

การจัดกิจกรรม

๑. รวบรวมส่วนประกอบและข้อมูล

    ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คิด

    อย่างครอบคลุม

๒. เชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

    ของรายละเอียดในส่วนประกอบ

    ต่างๆเพื่อให้เห็นโครงสร้างหรือ

    ภาพรวมของเรื่องที่คิด

๓. หาส่วนประกอบที่มีความสำคัญ

    หรือมีอิทธิพลต่อเรื่องที่คิด

๔. หาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของ

    ส่วนประกอบต่างๆ ที่โยงใยของ

    เรื่องที่คิด

๕. วิเคราะห์หาเหตุที่แท้จริงของ

    ปัญหา / เรื่องที่คิด

๖. อธิบายเรื่องที่คิดไว้อย่างเป็นระบบ

เทคโนโลยี

ชลอ  เอี่ยมสอาด  ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐมเขต๒

คะแนนโอเน็ต ป.6-ม.3 ปี 53 ชี้ชัดเด็กไทยยังด้อยคุณภาพการศึกษาน่าตกใจ ภาพรวมเฉลี่ยมีเพียงวิชาสุขศึกษาเท่านั้นที่ได้คะแนนเกิน 50 นอกจากนั้นที่เหลือได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ป.6 สุดหดหู่ ภาษาอังกฤษได้ 0 คะแนน กว่า 1.4 แสนคน ภาษาไทยกว่า 2 พันคนไม่มีคะแนน ส่วน ม.3 ภาษาอังกฤษกับศิลปะได้ 0 คะแนนพอๆ กัน วิชาละ 6-7 หมื่นคน
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า สทศ.ประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (โอเน็ต) ชั้น ป.6 และ ม.3 ไปเรียบร้อยแล้วนั้น นักเรียนที่ต้องการดูกระดาษคำตอบโอเน็ตให้ยื่นคำร้องได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นด้วยตนเองที่ สทศ. หรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ตั้งแต่วันที่ 21-23 มี.ค. โดยสามารถดูรายละเอียดการยื่นคำร้องที่เว็บไซด์ สทศ.www.niets.or.th
ผอ.สทศ.กล่าวว่า สำหรับผลคะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียน ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2553 นั้น ซึ่งใช้ข้อสอบแบบโอเน็ตฉบับสั้นซึ่งสะท้อนคุณภาพได้ส่วนหนึ่ง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องการให้ สทศ.วิเคราะห์การสอบ ซึ่ง สทศ.จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้พบว่าคะแนนเฉลี่ยในการสอบโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ปีนี้ได้ค่อนข้างต่ำ ชั้น ป.6 เฉลี่ย 20.99 คะแนน ส่วน ม.3 เฉลี่ย 16.19 คะแนน
ผลคะแนนโอเน็ตที่ สทศ.แจ้งทางเว็บไซต์ในเบื้องต้นพบว่า คะแนน ป.6 วิชาภาษาไทย มีเด็กได้ 0 คะแนน จำนวน 2,263 คน คะแนน 90.01-100.00 มี 24 คน, สังคมศึกษา 0 คะแนน มี 2,363 คน 90.01-100.00 มี 2,912 คน, ภาษาอังกฤษ 0 คะแนนมี 140,790 คน 90.01-100.00 มี 7,038 คน, คณิตศาสตร์ 0 คะแนน มี 1,858 คน 90.01-100.00 มี 1,308 คน, วิทยาศาสตร์ 0 คะแนน มี 2,643 คน 90.01-100.00 มี 1,602 คน, สุขศึกษา 0 คะแนน มี 1,149 คน 90.01-100.00 มี 557 คน, ศิลปะ 0 คะแนน มี 40,328 คน 90.01-100.00 มี 14,454 คน, การงาน 0 คะแนน มี 5,375 คน 90.01-100.00 มี 1,550 คน
ส่วนคะแนนเฉลี่ยจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ป.6 พบว่า ภาษาไทย 31.22 คะแนน, สังคมศึกษา 47.07, ภาษาอังกฤษ 20.99, คณิตศาสตร์ 34.85, วิทยาศาสตร์ 41.56, สุขศึกษา 54.31, ศิลปะ 41.10, การงาน 52.52
ส่วนช่วงคะแนนวิชาต่างๆ ของนักเรียน ม.3 มีดังนี้ ภาษาไทย 0 คะแนน มี 505 คน 90.01-100.00 มี 41 คน, สังคมศึกษา 0 คะแนน 2,129 คน 90.01-100.00 มี 741 คน, ภาษาอังกฤษ 0 คะแนน มี 68,180 คน 90.01-100.00 มี 2,126 คน, คณิตศาสตร์ 0 คะแนน มี 4,031 คน 90.01-100.00 มี 980 คน, วิทยาศาสตร์ 0 คะแนน มี 5,402 คน 90.01-100.00 มี 612 คน, สุขศึกษา 0 คะแนน มี 522 คน 90.01-100.00 มี 52,985 คน, ศิลปะ 0 คะแนน มี 74,337 คน 90.01-100.00 มี 153 คน, การงาน 0 คะแนน มี 12,321 คน 90.01-100.00 มี 816 คน
ส่วนคะแนนเฉลี่ยโอเน็ต ม.3 มีดังนี้ ภาษาไทยเฉลี่ย 42.80, สังคมศึกษา 40.85, ภาษาอังกฤษ 16.19, คณิตศาสตร์ 24.18, วิทยาศาสตร์ 29.17, สุขศึกษา 71.97, ศิลปะ 28.48, การงาน 47.07

การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

        ชลอ เอี่ยมสอาด เครือข่ายการนิเทศกลุ่มเพชรบัวงาม

อำเภอบางเลน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต ๒

  นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบงบประมาณที่จะใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ตั้งแต่ปี 2555-2561 จำนวน 143,142 ล้านบาท โดยงบดังกล่าวจะนำมาใช้ดำเนินการ 4 ด้าน แบ่งเป็น 1.ครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลน ให้ค่าน้ำหนัก 48% ของงบ ทั้งหมด 2.สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ ให้ค่าน้ำหนัก 36% ของงบทั้งหมด 3.กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ให้ค่าน้ำหนัก 8% ของงบทั้งหมด และ 4.การบริหารจัดการใหม่ ให้ค่าน้ำหนัก 8% ของงบทั้งหมด

         รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในปี 2555 โดยได้ดำเนินการตามข้อคิดเห็นจากรายงานการวิจัยของ McKinsey และความคิดเห็นของ กนป. ซึ่งใช้งบฯ 15,836 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีทางการศึกษา ใช้งบ 2,801 ล้านบาท 2.ปรับปรุงหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นกิจกรรมมากขึ้น ใช้งบ 566 ล้านบาท 3.กิจกรรมในการพัฒนาทักษะครู โดยเปลี่ยนกรอบความคิดครูจากการสอนมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ ใช้งบฯ 1,742 ล้านบาท 4.การผลิตครูพันธุ์ใหม่ ใช้งบ 731 ล้านบาท 5.ผลิตครูสาขาที่ขาดแคลนและครูวิชาชีพ ใช้งบ 1,836 ล้านบาท 6.โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ และโรงเรียนมาตรฐานสากล ใช้งบ 1,696 ล้านบาท

         นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า 7.สร้างโอกาสเข้าถึงมาตรฐานและเทคโนโลยีทางการศึกษา 3Ns ใช้งบ 5,099 ล้านบาท 8.ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้บริหาร เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ในการทำงานเชิงบูรณาการ ใช้งบ 160 ล้านบาท 9.เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็ก ใช้งบ 825 ล้านบาท และ 10.สร้างแรงจูงใจให้มีผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น และปรับปรุงคุณภาพการเรียนสายอาชีวศึกษา ใช้งบ 380 ล้านบาท

สาระสำคัญการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)

วิสัยทัศน์     คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ

เป้าหมาย   ภายในปี ๒๕๖๑ มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ ๑) คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ๒) เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ  ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย

กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา    มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดย

๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่  ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

๒) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่  ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า  สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู

๓) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย

๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน    มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล

  นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑) ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓  คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) – กนป. ได้กำหนดค่าเป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองจนสิ้นสุด พ.ศ. ๒๕๖๑ จำนวน ๔ เป้าหมาย ๒๐ ตัวบ่งชี้ ดังนี้

เป้าหมายที่ ๑ คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐

๒) ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (ผลทดสอบ PISA)

๓) ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

๔) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

๕) สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาเป็น ๖๐ : ๔๐

๖) ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากลและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

๗) จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕-๕๙ ปี) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี

เป้าหมายที่ ๒ คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

๒) อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕-๖๐ ปี) เป็นร้อยละ ๑๐๐

๓) ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

๔) คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที

๕) สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๑๐ ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ๕๐

เป้าหมายที่ ๓ คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความเป็นพลเมือง

๒) จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๓) จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ตั้งครรภ์ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๔) จำนวนเด็กเข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๕) สัดส่วนคนไทยที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ต่อปี

เป้าหมายที่ ๔ คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑) ผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์

๒) ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน ๑ ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

๓) กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

          ในช่วงนี้เป็นช่วงของการจัดทำแผนปฎิบัติการประจำปี 2554   ก็ขอนำ    เป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จำนวน ๔ เป้าหมาย ๒๐ ตัวบ่งชี้   มานำเสนอให้พวกเราได้รับรู้รับทราบ  ว่าลูกหลานของเราไปโรงเรียนและได้อะไรจากโรงเรียนบ้าง    และช่วยกันพิจารณาดูว่าเป็นไปตาม   เป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จำนวน ๔ เป้าหมาย ๒๐ ตัวบ่งชี้   หรือไม่   ถ้ายังไม่ได้พวกเราจะช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนอย่างไร  อะไรบ้าง เช่นด้านอาคารสถานที่  ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้าน ครุภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์  ด้านงบประมาณ  หรือด้านข้อคิดแนวคิดต่างๆ  ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของลูกหลานของเราให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น

ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์
และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ ครอบคลุมมาตรฐานที่ว่าด้วย
๑) ผลการจัดการศึกษา
๒)การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
๓)การบริหารจัดการศึกษา
๔) การประกันคุณภาพภายใน
การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ประเมินมาตรฐานตามกฎกระทรวงฯ ประกอบด้วย ๓ กลุ่มตัวบ่งชี้ คือ
กลุ่มตัวบ่งชี้พื้นฐาน (๘ ตัวบ่งชี้) กลุ่มตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ (๒ ตัวบ่งชี้)
และกลุ่มตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม (๒ ตัวบ่งชี้) มีจำนวนรวมทั้งหมด ๑๒ ตัวบ่งชี้
ดังนี้
กลุ่ม
ตัวบ่งชี้
ตัวบ่งชี้ น้ำหนัก
(คะแนน)
มาตรฐาน
ตามกฎกระทรวง
กลุ่มตัวบ่งชี้
พื้นฐาน
ตัวบ่งชี้หลัก ๑ ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ๑๐ มาตรฐานที่ ๑
ผลการจัดการศึกษา
ตัวบ่งชี้ย่อย ๑.๑ ผู้เรียนมีน้ำหนัก ส่วนสูง
และสมรรถภาพทางกาย

ตามเกณฑ์ รวมทั้งรู้จักดูแลตนเองให้มีความปลอดภัย
ตัวบ่งชี้ย่อย
๑.๒ ผู้เรียนมีสุนทรียภาพ
ตัวบ่งชี้หลัก ๒ ผู้เรียนมีคุณธรรม
จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
๑๐
ตัวบ่งชี้ย่อย
๒.๑ ผู้เรียนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
ตัวบ่งชี้ย่อย ๒.๒ ผู้เรียนเป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียน
ตัวบ่งชี้ย่อย ๒.๓ ผู้เรียนมีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
ตัวบ่งชี้หลัก ๓ ผู้เรียนมีความใฝ่รู้
และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
๑๐
ตัวบ่งชี้ย่อย ๓.๑ ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้จากการอ่านและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ตัวบ่งชี้ย่อย
๓.๒ ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงร่วมกับผู้อื่นทั้งในและนอกสถานศึกษา
ตัวบ่งชี้หลัก ๔ ผู้เรียนคิดเป็น
ทำเป็น
๑๐
ตัวบ่งชี้ย่อย ๔.๑ ผู้เรียนมีความสามารถด้านการคิด
ตัวบ่งชี้ย่อย
๔.๑ ผู้เรียนมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสังคม
ตัวบ่งชี้หลัก ๕ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ๒๐
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๑ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ในระดับชั้น ป.๓ ป.๖  ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๒ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ในระดับชั้น
ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๓ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในระดับชั้น
ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย ๕.๔ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม ในระดับชั้น ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๕ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
ในระดับชั้น ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๖ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในระดับชั้น ป.๓ ป.๖ ม.๓
และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย ๕.๗ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีในระดับชั้น
ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้ย่อย
๕.๘ ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในระดับชั้น
ป.๓ ป.๖ ม.๓ และ ม.๖
๒.๕
ตัวบ่งชี้หลัก ๖ ประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ๑๐ มาตรฐานที่ ๒
การจัดการเรียน
การสอนที่เน้นผู้เรียน
เป็นสำคัญ
ตัวบ่งชี้ย่อย ๖.๑ ประสิทธิผลการดำเนินการของสถานศึกษา
ตัวบ่งชี้ย่อย ๖.๒ กระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู
ตัวบ่งชี้หลัก ๗ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและการพัฒนาสถานศึกษา มาตรฐานที่ ๓
การบริหารจัดการศึกษา
ตัวบ่งชี้หลัก ๘ พัฒนาการของการประกันคุณภาพภายในโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด มาตรฐานที่ ๔
การประกันคุณภาพภายใน
กลุ่มตัวบ่งชี้
อัตลักษณ์
ตัวบ่งชี้หลัก ๙ ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา
ปณิธาน พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา
มาตรฐานที่ ๑
ผลการจัดการศึกษา
ตัวบ่งชี้หลัก ๑๐
ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
กลุ่มตัวบ่งชี้
มาตรการ
ส่งเสริม
ตัวบ่งชี้หลัก
๑๑ ผลการดำเนินการโครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา
มาตรฐานที่ ๑
ผลการจัดการศึกษา
ตัวบ่งชี้หลัก ๑๒
ผลการส่งเสริมพัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐาน  รักษามาตรฐานและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ  เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา
มาตรฐานที่ ๓
การบริหารจัดการศึกษา
รวมค่าน้ำหนักคะแนน ๑๐๐
นายชลอ  เอี่ยมสอาด
กลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา  สพป.นครปฐม เขต 2
เครือข่ายการนิเทศกลุ่มโรงเรียนวัดโพธิ์์

 

 

 

 

นวัตกรรมคืออะไร?

 คำว่า นวัตกรรมคืออะไร คนส่วนมากอาจจะคุ้นเคยกับคำว่านวัตกรรมเป็นอย่างดี แต่การที่จะเข้าถึงความหมายของมันช่างยากเย็นนัก

วิชานวัตกรรมนี้เป็นวิชาใหม่ที่ อาจเรียกได้ว่า วิชานวัตกรรม เป็นนวัตกรรมใหม่ของเรานั้นเอง แต่ผ่านไปสักพัก ก็อาจจะไม่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับเราอีกต่อไป

สิ่งที่เราเข้าใจ คำว่า นวัตกรรม มันใหม่กว่า คำว่า เทคโนโลยี และมีบ่อเกิดมาจาก ปัญหา ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังมีกระบวนการ เทคนิค วิธีการใหม่ ก็สามารถเป็นนวัตกรรมได้ด้วย นอกจากนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ว่ามีมานานของคนกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะเป็นนวัตกรรมของคนอีกกลุ่มกลุ่มหนึ่งก็ได้

นวัตกรรม เป็นองค์ความรู้ที่มีขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหา หรือ ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก

นวัตกรรมคืออะไรกัน

ทอมัส ฮิวช์ ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ มาปฎิบัติหลังจากผ่านการทดลอง หลังจากได้พัฒนาการเป็นขั้น และเริ่มตั้งแต่การคิดค้น การพัฒนาซึ่งอาจเป็นไปในรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อนแล้วจึงนำไปปฎิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฎิบัติการเดิมที่เคยปฎิบัติมา

มอร์ตัน ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้งซึ่งหมายถึง การปรับปรุงสิ่งเก่าและพัฒนาการศักยภาพของบุคลากรตลอดจนหน่อยงาน ขององค์กรนั้น นวัตกรรม ไม่ใช่การขจัดหรืล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนา

ไชยยศ เรืองสุวรรณ ได้ให้ความหมายไว้ว่า วิธีการปฎิบัติใหม่ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ ขึ้นมา หรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสม และสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการทดลองและพัฒนาไปจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

 

ได้ทราบความหมายของคำว่า นวัตกรรมไปแล้วนะ  แล้ว คำว่า นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร ????

นวัตกรรมการศึกษา (3)

การศึกษาที่แท้นั้น จะไม่มองผู้เรียนเปรียบดังเป็น ถังน้ำ และมองบทบาทของครูผู้สอนว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่เติมน้ำให้เต็มถัง หากแต่ต้องมองว่า หน้าที่ของครู อาจารย์ คือเป็นผู้ที่จุดไฟ แห่งความใฝ่รู้ให้กับผู้ที่เป็นศิษย์ ทำให้ศิษย์เกิด ฉันทะ มีความต้องการที่จะเรียนรู้โดยไม่จบสิ้น

นวัตกรรมการศึกษาจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัย วิธีคิดที่ออกนอกระบบจากช่องทางเดิมที่เคยชิน โดยเรียกได้ว่า ต้องจะต้องพลิกกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมกับการเรียนรู้ใหม่จากการเรียนรู้ คือ จากการศึกษาเพียงเพื่อให้รู้มาเป็น การเรียนรู้ที่นำมาเพื่อพัฒนางาน พัฒนาชีวิต ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้แบบนี้เป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงานเกี่ยวกับปัญหาเป็นความรู้ที่มีบริบทไม่ใช่ความรู้ที่เกิดมาลอยๆ

การเรียนรู้แบบใหม่นี้ จะต้องมีมุมมองที่เป็นองค์รวม คือ มองเห็นงาน เห็นปัญหา และเห็นชีวิตว่าเป็นสิ่งเดียวกัน มองเห็นปัญหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน และมองเห็นงานเป็นกระบวนการที่สำคัญของชีวิต

ดังนั้น นวัตกรรมการศึกษา จะต้องมีแนวความคิดที่แปลกใหม่ ไม่ยึดติดกับความคิดเดิม ๆ หรืออาจจะเรียนรู้จากการแก้ปัญหาโดยอาศัยแนวความคิดใหม่ ๆ

ชลอ เอี่ยมสอาด

หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2

 

 

กระบวนการทางปัญญา

กระบวนการทางปัญญาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

  ข้อเสนอแนะเพื่อทดลองนำไปใช้ฝึกนักเรียนและตนเองให้เกิดทักษะในการแสวงหาความรู้

1.การฝึกการสังเกต

สังเกตในสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก ในโลกทรรศน์และวิธีคิด สติและสมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกตและสิ่งที่เราสังเกต

2. ฝึกบันทึก

เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรฝึกบันทึก โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ ละเอียดมากน้อยตามวัยและตามสถานการณ์การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา

3. ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม

เมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราไปเรียนรู้อะไรมา บันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอ การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญา ทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม

4. ฝึกการฟัง

ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่าเป็นพหูสูตร บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูดเพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตนเอง หรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ และสมาธิ จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น

5. ฝึกปุจฉาวิสัชนา

เมื่อมีการนำเสนอและฟังแล้วปุจฉาวิสัชนา หรือถามตอบ ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง ในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราฟังครูโดยไม่ถามตอบ ก็จะไม่แจ่มแจ้ง

6. ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำตอบ

เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้นและมีการฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ก็จะอยากได้คำตอบ

7. ฝึกการค้นหาคำตอบ

เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ จากตำรา จากอินเทอร์เน็ต หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุก และทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ แต่คำถามยังอยู่ และมีความสำคัญต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย

8. การวิจัย

การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความภูมิใจ สนุกและมีประโยชน์มาก

9. เชื่อมโยงบูรณาการ

เชื่อมโยงบูรณาการให้เห็น ความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมาอย่าให้ความรู้นั้นแยกเป็นส่วนๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงามและมีมิติอื่นผุดบังเกิดออกมาเหนือความเป็นส่วนๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้เห็นด้วยตัวเองเกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือการเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไรๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่ในนั้นเสมอ มิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชาๆ หนึ่งแบบแยกเป็นส่วนแล้วก็ไม่ค่อยได้ผล

ในการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มาให้รู้ความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเองนี้ จะนำไปสู่อิสระภาพและความสุขอันล้นเหลือ เพราะหลุดพ้นจากการบีบคั้นของความไม่รู้ การไตร่ตรองนี้จะกลับไปสู่วัตถุประสงคืของการเรียนรู้ที่ว่าเพื่อลดตัวกูของกู และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอันจะช่วยให้กำกับการแสวงหาความรู้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อความกำเริบแห่งอหังการมมังการ และรบกวนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

10. ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา

การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงให้ประณีตขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐานที่มาที่อ้างอิงของความรู้ให้ถึ่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

เครดิต    แผ่นพับจัดทำเผยแพร่โดยมูลนิธิสดศรีสวัสดิ์วงศ์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

ชลอ  เอี่ยมสอาด   หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2

เผยแพร่

 

คุณธรรมที่ควรนำไปใช้ในการบูรณาการการเรียนการสอน

ชลอ  เอี่ยมสอาด ศึกษานิเทศก์เครือข่ายการนิเทศที่ 24 กลุ่มคุณภาพที่ 10 รวบรวมเผยแพร่

คุณธรรมพื้นฐาน  8  ประการประกอบด้วย

. ขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งานมีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง

. ประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ

. ซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกสำเอียง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง

. มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม

. สุภาพ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เรียบร้อยไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย

. สะอาด คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจและสภาพแวดล้อมมีความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น

. สามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุมีผล ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์

. มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอก เห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อมนุษย์และผู้ที่มีความเดียดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายและสติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

แนวทางการนำคุณธรรมสู่สถานศึกษา  (เครดิต  ชิตณรงค์ ขดภูเขียว)


. ความขยัน คือ ผู้ที่มีความตั้งใจพากเพียร ทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งาน มีความพยายามไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการที่โรงเรียนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร เช่น

. กิจกรรมวันสัปดาห์ห้องสมุด ได้มอบรางวัลให้กับนักเรียนยอดนักอ่านเป็นประจำทุกปี
. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้กับนักเรียนที่สนใจ เช่น การเลี้ยงโคพื้นเมือง เลี้ยงสุกร เสริมสวย ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว
. การมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความขยันหมั่นเพียร

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นที่น่าพอใจ

. ความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของตนเองอยู่เสมอควรจะ

ดำเนินการโครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์วิธีการดำเนินการจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขา อำเภออุทุมพรพิสัย นักเรียนสามารถนำเงินมาฝากที่โรงเรียนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังธนาคารโดยตรง ทำให้สะดวกในการออม ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งนี้โรงเรียนของเรายังส่งเสริมให้นักเรียนทำสมุดบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของตนเองเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบการรับและจ่ายเงินของตนเอง มีข้อมูลในการวางแผนการใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าและไม่ประมาท ส่งผลให้นักเรียนอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือยเนื่องจากทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของตนเองอยู่เสมอ

. ความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้องควรจะ

ดำเนินการส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตทั้งการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ โดยจะเห็นได้จากการประพฤติปฏิบัติตนของนักเรียนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้แล้วนำส่งคืนเจ้าของ โรงเรียนจะมีการบันทึกลงในสมุดทำความดี และเมื่อสิ้นปีการศึกษาจะมีพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับนักเรียนดังกล่าว

. ความมีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กรสังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจยึดมั่นในระเบียบแบบแผนข้อบังคับ ข้อปฏิบัติรวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคมควรจะ

จัดกิจกรรมส่งเสริมระเบียบวินัยให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนเป็นผู้มีระเบียบวินัย เช่น โครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม การอบรมผู้นำนักเรียน การปฐมนิเทศนักเรียน ซึ่งโครงการต่างๆเหล่านี้มีส่วนช่วยปลูกฝังระเบียบวินัยให้กับนักเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียนต่อไป

. ความสุภาพ คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะเรียบร้อยไม่ก้าวร้าวรุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทางเป็นผู้ที่มีมารยาทดีงาม วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมควรจะ
จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีกิริยามารยาทเรียบร้อยดีงามตามวัฒนธรรมของสังคมไทย เช่น การอบรมมารยาทไทยให้กับนักเรียน การจัดการประกวดมารยาทไทย และการสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมแข่งขันมารยาทไทยในโอกาสต่างๆ

. ความสะอาด คือ ผู้ที่รักร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัวมีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งทางกาย ใจ และสภาพแวดล้อม มีความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็นควรจะ

ดำเนินการกิจกรรม . เพื่อให้นักเรียนรู้จักฝึกการรักษาความสะอาดภายในห้องเรียนและบริเวณรอบๆโรงเรียน ได้มอบหมายให้นักเรียนในแต่ละห้องเรียนมีเขตพื้นที่รับผิด ชอบในการดูแลรักษาความสะอาด และในชั่วโมงโฮมรูมนักเรียนจะร่วมพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ

. ความสามัคคี ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานนะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกุลกันเพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้เป็นผู้ที่มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์ควรจะ

จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความรักและสามัคคีกันในการที่จะพัฒนาโรงเรียน เช่น กิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายใน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน และการเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนในการรณรงค์ในโอกาสต่างๆ เช่น การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ

. ความมีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเห็นอกเห็นใจและเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์และผู้ที่มีความเดือดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายและสติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชนควรจะ

ปลูกฝังความมีน้ำใจให้เกิดแก่ตัวนักเรียนทุกคน เพราะต้องการที่จะพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่สามารถใช้ชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข โดยมีแนวทางในการดำเนินการคือ จัดอบรมให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อปลูกจิตสำนึกในการมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อน ครู และโรงเรียนในโอกาสต่างๆ เช่น การร่วมทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา การจัดกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนนักเรียนแต่ละระดับชั้นก็มีส่วนร่วมในการร่วมจัดกิจกรรมนั้น เช่น วันวิทยาศาสตร์ วันสุนทรภู่ สัปดาห์ห้องสมุด วันขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้นักเรียนยังแสดงออกถึงความมีน้ำใจต่อเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง รวมไปถึงผู้ปกครองและชุมชนต่อไปด้วย